อัตตาหิ  อัตะโน  นาโถ-ตนของตนเป็นที่พึ่งของตนแล

 

              ซึ่งแปลว่า   จะพึ่งสิ่งอื่นใดนั้นย่อมไม่มีอีกแล้วนั้นแหละ  ถึงจะจัดเป็นตนของตนเป็นที่พึ่งของตน  ได้อย่างแท้จริงนะท่านคือ  หนึ่งไม่มีสองนั่นแหละ  ตนต้องเป็นผู้รักษาตน ตนต้องเป็นผู้เมตตาตน  ถึงจะพ้นหมู่ภัย  ผู้รักตนต้องน้อมตนให้ออกจากกามตัณหาสามโลกธรรมแปดประการให้ได้เป็นเด็ดขาด เพราะว่าทางสายกามนั้นเป็นทางก่อกรรมสร้างเวร  เป็นทางประกอบทุกข์อยู่เสมอ ๆ ไปนะท่าน  รักตนเพื่อให้ตนปราศจากออกจากกามที่นึกคิดแสวงหาโดยไม่ผิดโดยลับ ๆ ที่ตนขาดจากความพิจารณาไปตัดสินเอาเองว่าเป็นทางสุขเลยติดสุขอยู่นั่นเอง เลยไม่รู้สุขที่ประกอบทุกข์อยู่ภายในแห่งสุขนั้น  ความนึกคิดเช่นนี้แหละถึงได้เกิดมัวเมาหลงอยู่ เห็นทุกข์ก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นทุกข์ไป  เพราะว่าตนขาดจากความพิจารณาในเหตุและผล ถึงไม่รู้ในทางประกอบทุกข์จะมานะภายหลัง  เพราะตนของตนได้นึกคิดถึงตนของตนเลย เพราะตนนึกคิดของตนเป็นทุกข์ไปหาว่าเป็นสุขอยู่เสมอไป  ขอให้ท่านทั้งหลายให้พิจารณาในความสุขในความเพลิดเพลินนั้นด้วย  เหตุก็อยู่ในที่นั้น  ผลก็อยู่ในที่นั้น  ผู้ปฏิบัติชาย –หญิงสมควรพิจารณารับทราบในธรรมเหล่านี้ด้วยทุก ๆ ท่าน เพราะว่าธรรมเหล่านี้มันมีทั้งเหตุและผลอยู่ด้วยกันนะท่าน  ผู้ติดสุขที่อยู่ ในกามตัณหานี้  เกิดความนึกคิดขึ้นทางจิตใจทำให้เพลิดเพลินลืมตนของตนไม่ได้พิจารณา หลงเผลอไปขาดจากสติที่ตั้งของจิตใจนั้นเอง  เลยไปติดสุขไม่รู้ทุกข์ที่จะมาถึงตนของตนโดยวิธีใด มีอะไรบ้างที่จะเป็นทางประกอบทุกข์ที่จะเกิดมานะภายหลัง  เพราะตนของตนยังไม่ถึงสุขอย่างแท้จริง ท่านเรียกว่าความนึกคิดที่เกิดขึ้นนั้นมันสุกก่อนห่าม  มันถึงได้หลงไปตามสิ่งเพลิดเพลินแห่งกามตัณหาสาม โลกธรรมแปดประการนะท่าน มันเป็นทางสุขเพลิดเพลินเข้าไปสู่ทางประกอบทุกข์อันจะมาภายหลัง โดยไม่รู้สึกตัวให้พิจารณาดูในธรรมเหล่านี้ด้วย เพราะว่าความหลงของจิตใจหลงใหลเข้าสู่สุขเพลิดเพลินในสิ่งประกอบทุกข์ เพราะว่าสุขเพลิดเพลินนั้นมันปิดบังจิตใจไว้ให้ลืมตนของตน  ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ที่จะมาถึงตน เพราะตนติดสุขเพราะผู้อื่นและอามิสนานาประการ  ถึงไม่รู้ทุกข์ที่จะมาถึงตนของตน  หลงรักแต่คนอื่น อันเป็นที่พึ่งความสุข  หลงเมตตาเพลิดเพลินแก่ผู้อื่นโดยวัตถุนานาประการ ไม่รู้ความเศร้าโศกโทมนัสโศกาที่จะมาถึงตนหารู้ได้ไม่ฯ

 

              ไฟเผาไหม้ขอนผีหมดไปแล้วยังไม่รู้ตัว  เพราะตนขาดจากความรักตนของตน ขาดจากความเมตตาตนของตนโดยไม่พิจารณา ในสภาวธรรมนั้น ๆ ที่มันเกิดนึกคิดขึ้นในทางจิตใจของตนนั้น  มันเป็นสภาวธรรมอย่างไรบ้าง  มันจะเป็นทางทุกข์หรือมันจะเป็นทางสุขที่จะมานะภายหลังให้รู้ด้วย  สภาวะที่สะสมในทางประกอบทุกข์มานะภายหลังให้รู้ด้วย  สภาวะที่ไม่สะสมในทางไม่ประกอบทุกข์ มานะภายหลังให้รู้ด้วย  ผู้ปฏิบัติชายและหญิงภิกษุ  สามเณร  ชี  พราหมณ์  อุบาสก  อุบาสิกา สมควรพิจารณาให้รู้ซึ้งให้แจ่มแจ้งในสภาวะธรรมเหล่านี้ด้วยว่ามันมีเหตุมีผลอย่างไรบ้าง เราจะรู้ทุกข์หรือสุขก็จะรู้อยู่ในสภาวธรรมที่กล่าวมานี้  ผู้ไม่พิจารณาจะหาเหตุหาผลมิได้เลยนะท่าน เพราะว่าไม่รู้อะไรเป็นอะไรนั้นเอง  สภาวธรรมนี้คือเป็นสิ่งกระทำจิตใจชาย – หญิง  ให้เกิดนึกคิด ไปตามสภาวธรรมนั้น ๆ สภาวธรรมมีอยู่  3  อย่างด้วยกัน  มีดังต่อไปนี้คือ

 

              1.     ความยินดีรักใคร่ด้วยกิเลสกามวัตถุกาม  

 

              2.     ความยินร้ายในกิเลสกามวัตถุกาม

 

              3.     ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในกิเลสกามวัตถุกามที่บังเกิดขึ้นแก่จิตใจโดยสภาวธรรมนั้น ๆ

 

              สิ่งที่นำให้เกิดสภาวธรรมที่จะเข้าสู่อวิชชาตัณหาความมืด  ความมืดนั้นคือความลืมตนของตนนั่นเอง  หลงรัก  หลงใคร่  ในความกำหนัดสัมผัสอยากถูกต้องกายผู้อื่นนานาปะการจนลืมตนด้วยความมืด  ไม่รู้ความทุกข์ที่จะมาถึงตน  หลงเอาชีวิตอินทรีย์เข้าไปมอบกายถวายชีวิตแก่สภาวธรรมที่มันเกิดขึ้นแก่จิตใจของตนนั้น ๆ  โดยขาดจากสติความยั้งคิดไปกันทั้งหมด  เพราะสภาวธรรมที่บังเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งน้อมนำจิตใจให้เป็นไปตามสภาวธรรมเหล่านั้น  เมื่อสภาวธรรมเหล่าใดที่เกิดขึ้นแก่จิตใจเรา  มันให้เกิดนึกคิดให้รู้ในสภาวธรรมเหล่านั้นด้วย  ให้เราพิจารณาเหตุผลในสภาวธรรมเหล่านั้นด้วย  อย่าพึ่งปล่อยจิตใจของตนให้ไปตกอยู่ในหลุมพรางของสภาวธรรมเหล่านั้น  ให้พิจารณาดูกันก่อน อย่าพึ่งไปหลงตกลงจิตใจของตนโดยโง่เขลา  ว่าเป็นสิ่งเพลิดเพลิน  อย่าไปหลงเดินเหยียบขวาก อย่าหลงรวบเรียวหนาม ให้ค่อยเดินตามพระ  ให้ค่อยละด้วยความพิจารณาด้วยเหตุและผล  เป็นมนุษย์คนเราต้องให้รู้หนักหรือเบาด้วยจิตใจ ไฟอบายมุขจะเกิดเผาตนได้ก็เพราะตนขาดจากความพิจารณาหยั่งคิดนั้นเอง  ขอให้มีสติความน้อมนึกได้ว่าตนของตนเป็นที่พึ่งของตน  ตนต้องเป็นผู้รักษาตน  ตนต้องเป็นผู้เมตตาตนถึงจะพ้นภัยวิบัติ  สุข-ทุกข์อยู่ที่สภาวธรรม  สภาวธรรมเป็นสิ่งน้อมนำจิตใจเราท่านนั่นเอง  เพราะว่าจิตใจเราท่านเปลี่ยนแปลงเอาได้ไม่ยากนัก  สิ่งอื่นที่นึกคิดแสนจะยากลำบากเศร้าใจ  เรายังกระทำได้  สิ่งอื่น ๆ เราก็กระทำได้เช่นกัน ฯ

 

              มนุษย์ชาย –หญิงทั้งหลายว่าตนรู้ตนของตน  ทำไมหนอถึงได้พูดว่าเรามีกรรมเวร ต้องต่อสู้ใช้กรรมใช้เวรไปตามกรรมเสียก่อนเช่นนี้  มันเป็นคนฉลาดหรือโง่  ให้พิจารณาในสภาวธรรมเหล่านี้ด้วย  เพราะว่าสภาวธรรมที่ประกอบทุกข์ด้วยตัณหาอวิชชาปิดบังจิตใจ ทำให้เกิดเบื่อหน่ายในทางศีลและธรรมอันเป็นแนวทาง ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แนะนำสั่งสอน ให้นำจิตใจของตนให้นึกคิดไปตามสภาวะที่จะเลิกละออกจากกรรมเวรนั้น ๆให้ลุล่วงไป  ท่านอย่าไปต่อสู้เขาเลย  เรื่องกรรมเรื่องเวรนั้นมันสู้เขาไม่ได้ดอก  เพราะว่ากรรมเวรนั้นเขาเป็นสภาวธรรม  เป็นธรรมอันไม่ตาย เป็นธรรมประกอบกามตัณหาวิชชาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงสภาวธรรมกรรมเวรนั้นไว้  ถ้าท่านเหล่าใดหลงอยู่ในสภาวธรรมเหล่านี้จะหาทางสิ้นจากทุกข์มิได้เลยนะท่าน  เพราะว่าสภาวธรรมแห่งกามนี้เป็นมูลฐานทำให้จิตใจหันเหหมุนเวียนไปตามสภาวะธรรมต่าง ๆ ได้  พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสไว้ว่าเป็นธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร  เป็นธรรมที่ควรรู้ให้แจ้งตามสภาวธรรมนั้น ๆ ด้วย

              สภาวธรรมขั้นที่  1  คือจิตใจของมนุษย์และสัตว์ที่จมอยู่ใต้ขี้โคลนหรือใต้น้ำ  หรือกลางน้ำสมุทัยปะปนอยู่กับลูกคลื่นใหญ่มหันต์  จมอยู่ใต้วารินแห่งหมู่มาร  หลงอยู่ในกองสังขารตนและผู้อื่นหาว่าเป็นที่ชื่นอารมณ์สมใจรักของตน  ความทุกข์ยากแสนเข็ญทุกข์โศกมีทั้งโรคและภัยไข้เจ็บนานาประการ เพราะจิตใจของตนอยู่ใต้น้ำปลักตม  ไม่ยอมถอนจิตใจตนขึ้นพ้นภัย  หลงรักอยู่ในโคลนว่าเป็นของดี  หลงติดอยู่เป็นกัป ๆ จนนับไม่ไหว  เพราะตนไม่รู้ทางที่จะไปนั่นเอง  จิตใจท่านชาย – หญิงยกออกได้ไปไวยิ่งกว่าลมพัด  อย่าให้มันไปติดไปขัด  อย่าให้มันไปตวัดกระทบฝั่งธาตุดิน  ยักษ์มันจะกินเพราะเป็นอาหารพญามาร  ยักยอกเล่ห์กลนานาหมู่เต่าปูปลา  ออกมากมายตายร้อยชาติพันชาติจนหาประมาณมิได้  จิตติดสังขารเรียกว่าขี้โคลนอันอยู่ใต้น้ำนั่นเอง

 

              สภาวธรรมชั้นที่  2  คือจิตใจของมนุษย์และสัตว์ชาย – หญิง  ผู้ที่มีปัญญาถอนจิตใจของตนให้ขึ้นอยู่บนผิวน้ำสมุทัย  ตั้งจิตใจคอยฟังรับเอาพระสัจจะธรรมตามท่านอาจารย์ผู้เมธี  ผู้ท่านสั่งสอนวิถีจิตให้หลีกไกลจากหมู่มารผู้ท่านสั่งสอนซึ่งทางพระนิพพาน  ที่นำจิตใจตนให้ขึ้นสู่ฝั่งคือโลกอุดร  เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติจิตใจท่านชายและท่านหญิง โลกอุดรเป็นทางข้ามออกจากสภาวธรรม เป็นธรรมอันไม่ตายด้วยกันทั้งนั้น  รู้จักเหตุแห่งทุกข์ของอาสวะสภาวธรรมที่จมอยู่  ด้วยความนึกคิดที่จมอยู่ด้วยความรักแห่งกาม  ว่าเป็นแห่งกองทุกข์ที่ติดตามแห่งจิตเราท่านอยู่ไม่สร่างซา  พอรู้แจ้งเช่นนี้แล้ว  ก็ใช้ขันติความอดทนข่มตัณหาสภาวธรรมเหล่านั้น  ใช้วิริยะความเพียรพยายามยกจิตใจองตนขึ้นสู่ฝั่งบนบก  ไม่ยินยอมเชื่อฟังคำผู้เสพกาม  โลภ  โกรธ  หลง  อยู่จะมาพูดเกลี้ยกล่อมโดยวิธีใดก็ตาม  จะยกทรัพย์อันมหาศาลให้สักเท่าใดก็ตาม  ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในทรัพย์นั้นเป็นอันขาด  เพราะว่าผู้ปฏิบัติชาย – หญิงเป็นผู้ยกจิตใจของตนขึ้นบนบกโลกอุดรได้แล้ว  ไม่มีจะกลับจะลงไปสู่ใต้น้ำโคลนตมอีกได้แล้ว  เพราะจิตใจจะมุ่งหน้าข้ามจากโลกอุดรต่อไป  นึกถึงความรักแห่งเศษตัณหานั้น  เหมือนกับถูกไฟเผาผลาญ เกิดสัมบีฑาเบื่อหน่ายรู้แจ้งคลายจากความมกำหนัดแห่งประเพณีที่ถือสับ ๆ กันมา  ไม่เป็นทางปรารถนาอีกต่อไป  แม้แต่สภาวะจิตจะเกิดขึ้นสักเท่าไรก็ตามไม่ยอมกระทำไปตามจิตนั้นเป็นอันขาด  มีจิตมุ่งหน้าต่อไป  จิตใจที่ขณะสัญจรเข้าสู่ทางโลกอุดรนั้น  จะหาว่ามีสัญญาเป็นสิ่งจำได้หมายรู้อย่างนั้นก็หาไม่  ว่าไม่มีสัญญาเครื่องจำอย่างนั้นก็หาไม่  มีแต่สติความน้อมนึกอยู่กับศีลและธรรมมุ่งหน้าต่อ ๆ ไป  ไม่มีจุดหมายอย่างจิตที่เราเคยอยู่เป็นปุถุชนสามัญชนแห่งกามอย่างนั้นก็หาไม่  จิตใจที่เดินเข้าสู่โลกอุดรนั้น  เพื่อจะข้ามโลกอุดรนั้นจะเขียนเรื่องจิตในตอนนั้น  ไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไรให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังให้รู้ชัดแจ่มแจ้งนั้น ไม่รู้ว่าจะเอาคำเหล่าใดเอาธรรมข้อไหนมาจำแนกให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจได้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด  เพราะมันเป็นวิถีของจิต  เจตสิก  ที่สัญจรออกห่างไกลจากสังขารร่างกายตนและผู้อื่น  ห่างไกลจากโลกกามภพจักรวาลโลกนี้  จิตปราศจากภพทั้งสามมิได้คำนึงนึกถึงอะไรแม้แต่นิดเดียว เหมือนทางเปลี่ยวเดียวดายจะกลับหลังก็ไม่ได้มีแต่มุ่งหน้าต่อ ๆ ไป  ความนึกจะถอยหลังนั้นย่อมไม่มีเป็นเช่นนี้  ตอนจิตผู้ปฏิบัติจะข้ามจากโลกอุดร

 

              ผู้ปฏิบัติทั้งหลายเมื่อเข้าสู่ขั้นนี้แล้วคงจะรู้ได้จำเพาะตนเองทุกท่าน  เพราะว่าผู้ปฏิบัติจิตให้เข้าสู่ศีล  สมาธิ  ปัญญา  เพื่อจะหลีกหนีจากตัณหาพญามารหมู่กามทั้งหลายให้พ้นไปก็ต้องเดินวิถีจิตแต่ละท่าน  ก็ต้องไปทางสายเดียวกัน  อย่างอาตมาภาพจำแนกธรรมไว้นี้เป็นแน่แท้  ไม่มากก็น้อยคงไปรอยเดียวกันตามพระพุทธบัญญัติไว้  โดยห่างไกลกันกับโลกกามภพของมนุษย์และสัตว์เหล่านี้  ไม่รู้ว่าจะเอาธรรมเหล่าใดมากำหนดมาประมาณใกล้ไกลให้แจ้งชัดไปได้  เปรียบได้เป็นแต่เพียงเงา ๆ คือใต้น้ำกับบนบกเท่านั้น  จะให้มันชัดแจ้งอย่างกามตัณหา  โลภ  โกรธ   หลงของหมู่มนุษย์และสัตว์ที่หลงกันอยู่ทุกวันนี้ก็หามิได้  เว้นไว้แต่ผู้ปฏิบัติตามศีล  สมาธิ  ปัญญา เท่านั้นจึงจะรู้แจ้งด้วยตนเอง  เพราะไม่มีสิ่งอันใดที่จะมาประมาณให้รู้ให้เห็นได้  ศีลเป็นหน้าที่ของจิตแต่ละท่านชาย –หญิงจงให้มีสติความน้อมนึกได้นั้น  น้อมนึกในจิตของตนให้ละ  ให้เว้น  ให้ปราศจาก  อย่าได้ไปอาลัยห่วงใยในสิ่งนั้น ๆ ตามพุทธบัญญัติ  ให้มีจิตน้อมนึกละเว้นตามศีลสิกขาบท  ว่าสิ่งทางอันใดที่จิตใจของตน  ที่จะเป็นทางสายเดินต่อ ๆ ไปนี้จะยิ่งกว่าศีลสิกขาบทที่จิตเราละเว้นไปตามศีลสิกขาบทนี้ย่อมไม่มีอีกแล้ว ฯ

 

              ดังนี้จิตใจเราท่านถึงได้สว่างไสวรู้แจ้งไปได้ในทางจิตใจ  เพราะว่าจิตใจเราท่านชาย – หญิงเป็นสิ่งไม่ตายอย่างสังขารกายเวทนาดอกท่าน  จงให้เอาจิตใจเราท่านชาย – หญิงให้อยู่ในศีลสิกขาบท  โดยละเว้นปราศจากให้ขาดจากการอาลัยในสิ่งละเว้นปราศจากในสิ่งนั้น ๆ ตามศีลสิกขาบทด้วยจิตใจเราท่านชาย – หญิงนั้นเถิด  ถึงจะเรียกชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง  นอกจากนี้ไปแล้วจิตใจเราท่านชาย –หญิงจะเป็นลิงเป็นจระเข้และมัจฉาหางเป็นปลาหน้าเป็นคน  ล่อลวงประชาชนเอาศาสนาพระพุทธเจ้ามาบังหน้าไว้  แต่ส่วนจิตใจนั้นเป็นพญามารอยู่เช่นนี้  เป็นทางห่างไกลจากพระนิพพานอยู่ออกส่วนมาก  เพราะตนของตนไม่ยอมเปลี่ยนจิตใจของตนให้เข้าสู่ศีลสิกขาบทของพระพุทธเจ้านั้นเอง  จิตใจเราท่านชาย – หญิงเปลี่ยนได้ไม่ยากนัก  แต่จิตใจเราท่านชาย – หญิงจะคิดเปลี่ยนทิศทางเข้าไปสู่อบายมุขอบายภูมิเป็นทางก่อกรรมสร้างเวรเข้าไปสู่นรกโลกันต์  ทางยากลำบากแสนเข็ญก็ยังเปลี่ยนจิตใจของตนให้ไปได้  เพราะเหตุอะไรหรือ  จงให้พิจารณาดูกันบ้าง  โดยสมาธิมีดังต่อไปนี้  สมาธิมีหน้าที่คือ  ความมั่นด้วยจิตใจของตนเองไม่ยอมเอนเอียงหวั่นไหวต่ออารมณ์ต่าง ๆ  ที่นอกจากสิ่งมิใช่ศีลสิกขาบท  สมาธิเป็นทางอดทนของจิตใจ  ไม่ยอมให้จิตใจของตนเผอเรอหลงไปตกในทางที่ชั่ว  ที่นอกจากศีลสิกขาบทไปได้  สมาธิเป็นหน้าที่พิจารณาด้วยเหตุและผล  สมาธิเป็นทางนำจิตใจให้เข้าสู่ความเพียรที่ปราศจากออกจากกองทุกข์ให้ได้เป็นเด็ดขาด   สมาธิเป็นทางที่ถือจิตใจให้มั่น  ไม่ให้จิตใจของตนไปตกอยู่ในทางรักในทางเกลียดไปได้  สมาธิเป็นทางน้อมจิตใจของตนที่หลงไปตกในแห่งกามทุจริต  โลภะ  โทสะ  โมหะ  ปฏิฆะ  พยาบาทจริตให้สิ้นไป  สมาธิเป็นทางนำจิตใจให้หนักแน่นไม่หวั่นไหว  สมาธิเป็นหน้าที่ไตร่ตรองหาเหตุและผลในสิ่งที่ดีหรือที่ชั่ว  สมาธิเป็นทางไม่หวั่นไหวในทางที่ดีหรือทางที่ชั่ว  สมาธิเป็นทางประกอบจิตใจ  ให้เข้าสู่เกาะศีลและธรรมให้เกิดปัญญาความรู้แจ้งสว่างไสว  รู้เท่าทันสังขารตนและผู้อื่น  ด้วยเมตตาสามัคคีธรรมได้อย่างแท้จริงนะท่านชาย – หญิง

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  23/10/2562 10:13:38

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom