ศีล 5 เป็นมนุษย์สมบัติ – สวรรค์สมบัติ

 

               ศีล 5 เป็นศีลปกครองประเพณีในศาสนาพราหมณ์ มิให้ก้าวก่ายเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ตามประเพณีอันดีงามของพราหมณ์ เป็นศีลปกครองจิตใจชาย – หญิงให้มีความละอายแก่ใจตามประเพณีพราหมณ์คือศีล 5 ศีล 10 เป็นศีลของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาวางระเบียบประเพณีสามัคคีธรรม ให้ปวงมนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติจิตใจให้เข้าถึงปรินิพพานต่อ ๆ ไป เป็นศีลนิพพานสมบัติ ให้ผู้ปฏิบัติดำเนินกิจการเป็นส่วนรวมเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่นให้พร้อมขั้นบรรลุเถิดดั่งนี้ ท่านเรียกว่าศาสนามาสั่งสอนให้มนุษย์มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ให้รู้จักคุณให้เคารพคุณอยู่เป็นเนืองนิจ อย่าไปถือเชื่อตามลมไฟของตนให้ระมัดระวังมันช็อตติดกันไปได้ ให้เราวางเฉย ๆ มันถึงจะดับได้ ธรรมเหล่านี้ขอให้พิจารณาในตนของตนมันถึงจะรู้ ผู้รู้ก็เช่นกันนะท่านอาตมามิได้ลบหลู่ดูหมิ่นแก่ท่านยุคใดสมัยใด ยุคเก่าแก่ที่สัตว์มนุษย์เกิดมายังไม่รู้ยังไม่มีความละอาย ยังไม่รู้จะทำการปกปิดอวัยวะร่างกาย การนุ่งห่มรับประทานตั้งแต่ของดิบ ๆ  ยังไม่รู้ประเพณี ยังไม่รู้ว่าใครเป็นบิดา – มารดา สามี – ภรรยาก้าวก่ายกันไปทั้งหมดเหมือนเยี่ยงสัตว์บางชนิดจะเรียกกันก็เรียกกันว่าเพื่อน หรือว่าสหายไปเท่านั้น เพราะยังไม่มีศาสนาบัญญัติศีลและธรรมประเพณีอันดีงามยังไม่มีในยุคนั้น (แต่อาตมาก็มิได้ลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามคุณของท่านเหล่านั้นแต่ประการใดๆ เพราะเชื้อของสัตว์มนุษย์ท่านเกิดมาก่อน หมู่ท่านเหล่านั้นก็คงเป็นปู่ – ย่า – ตา – ทวด เพราะเป็นสายโลหิตติดเนื่องกันมาถึงมนุษย์ชาย – หญิงปัจจุบันก็ติดสายโลหิตมาจากท่านเหล่านั้นเหมือนกัน) แต่ไม่รู้บุญรู้บาปเพราะว่าศาสนาคำสอนให้รู้ยังไม่มี มนุษย์คนเราในโลกจักรวาลนี้ไม่ว่าชาติใดๆไม่ว่าประเทศใดๆ ก็เนื่องมาจากหมู่ท่านด้วยกันทั้งหมด ทุกวันนี้อาจจะเป็นจิตวิญญาณที่เป็นธรรมอันไม่ตายนั้น จะมาเกิดในยุคนี้ก็ได้มาเป็นลูกเป็นหลานของท่านชาย – หญิงก็เป็นได้ 

 

               อาตมาภาพจึงได้พิจารณาสังเกตในคำพูดมันเป็นคำของคนยุคโน้น เพราะอุปนิสัยของท่านที่ติดตามมาอยู่ เพราะว่านิสัยนี้จะจัดว่าเป็นบุญเป็นกรรม – เวรก็ใช่ เพราะมันเป็นการกระทำของแต่ละบุคคลที่ได้กระทำมาแต่อดีตชาติเราทำไว้อย่างไร อุปนิสัยก็จะมาปรุงจิตใจของท่านเหล่านั้น ให้เป็นไปในการกระทำนั้น ๆ เราเป็นบิดา – มารดา – ครูบาอาจารย์ ถึงได้สั่งสอนอบรมได้ยากที่สุด เพราะต้องรู้ในนิสัยของสัตว์มนุษย์ที่มาเกิดมาปฏิสนธิเป็นลูกเป็นหลานของเราบ้าง เพราะนานาจิตใจนิสัยในการกระทำของท่านเหล่านั้นต่าง ๆ กัน เราให้รู้ในธรรมเหล่านี้ เพราะเราเป็นบิดา – มารดา – ครูบาอาจารย์ของเด็กที่มาเกิดรุ่นหลัง เรารู้แล้วเราก็จะมิได้เกิดวิตกวิจารณ์ ความเศร้าหมองก็จะไม่มีในจิตใจของเรา ที่เราเป็นผู้สอนเพราะนิสัยของแต่ละบุคคลมันสอนยาก  เพราะนิสัยมันต่าง ๆ กันนั้นเอง เราเป็นบิดา – มารดา – ครูบาอาจารย์ ต้องหาวิธีในการสั่งสอนอบรมแยกนิสัยสิ่งที่ชั่วในท่านเหล่านั้นให้ออกจากนิสัยเดิมที่ชั่วร้ายให้ค่อย ๆ หมดไปตามจริตของแต่ละบุคคล เราอย่าไปถือโทสะพยาบาทโกรธเคืองแก่ท่านเหล่านั้น เราจงพยายามเอาความดี ความงามตามประเพณีสิ่งที่ดีแทรกแซงเข้าสู่จิตใจของท่านเหล่านั้นให้ได้เป็นเด็ดขาด เราอย่าไปถือในความกลุ้มใจและเศร้าใจ เราอย่าไปถือเป็นอันขาด เราให้ใช้ปัญญาอุตสาหะด้วยการอบรมบ่มนิสัย ช่วยชี้ทางให้หมู่ท่านเหล่านั้นรู้ผิดรู้ถูก  เพราะหมู่ท่านเหล่านั้นมีนิสัยเยี่ยงสัตว์ป่าหรือคนเถื่อนนั่นแหละ ก็ตามนิสัยเขาเหล่านั้นเขามีนิสัยทางจิตใจในคนยุคนั้นสมัยนั้น เขาเป็นคนป่าเป็นคนดอยอยู่แล้ว พอมีผู้มาแนะนำว่าหมู่เราจงเข้าไปอยู่ในดงในป่าในเขาในดอยกันดีกว่า มีผู้พูดชักชวนเช่นนั้นก็เห็นดีตามท่านเหล่านั้นไม่ว่าท่านชายและหญิง ก็จึงเห็นดีไปตาม ๆ เขาเหล่านั้น เพราะมันถูกกับจริตนิสัยของคนเหล่านั้น เพราะในอดีตชาติก่อนโน้นเขาไม่มีศาสนาประเพณี เขาไม่รู้คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระอริยสงฆ์  ที่ท่านสั่งสอนอบรมมาเพื่อให้รู้บุญรู้บาป ให้รู้คุณบิดา – มารดา – ครูบาอาจารย์ ว่าเป็นผู้มีพระคุณ หมู่ท่านเหล่านั้นหาว่าไม่มีคุณ หมู่ท่านเหล่านั้นหาว่าไม่มีประโยชน์ ไปหาว่าของไม่มีตัวตนไปหาว่าเป็นของล้าสมัย ไม่รู้คุณของประเทศชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์ ที่ปกครองประเทศโดยศีลและธรรมตามประเพณีอันดีงาม ไปลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามพระคุณของท่านไปจนหมด เพราะว่าอดีตชาติโน้นที่เขามาเกิดเป็นคนในสมัยเก่าแก่ดึกดำบรรพนั้นไม่มีศาสนาใดๆทั้งนั้น เมื่อเขาเหล่านั้นกลับมาเกิดอีกในปัจจุบันเราทุก ๆ วันนี้ ก็สั่งสอนยากเพราะเขาไม่เคยพบศาสนาประเพณีอันดีงามอย่างเรา ๆ ทุกวันนี้ เพราะว่าเขาเขาเป็นคนสมัยโน้น เขาไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นพ่อเป็นแม่เขาไม่รู้ไม่มี เขาเรียกกันว่าเป็นเพื่อนเป็นสหายกันไปทั้งหมด ถ้ามีพูดว่าผู้ใดเป็นพ่อเป็นแม่ไม่มีความหมาย ศาสนาก็ไม่มีความหมาย สั่งสอนให้คนล้าสมัย บุญบาปไม่มีตัวตนมีอยู่ที่ไหน มีคนมาพูดขึ้นเช่นนี้ พอได้ยินได้ฟังใกล้ไกลก็ตามพวกตามหมู่ท่านเหล่านั้นก็เห็นว่าเป็นการถูกต้องกับลัทธิของตน ถูกจิตถูกใจของตน ก็เลยเชื่อตาม ๆ เขาเหล่านั้น จะเป็นลูกเป็นหลานของเราท่านก็ตามก็ไปเชื่อความงม ๆ งาย ๆ ตามเขาไปเพราะนิสัยเดิมเขามีอยู่แล้วนั่นเอง

 

               เขาปกครองกันด้วยศัสตราอาวุธ ฆ่ากันกินกันอย่างนั้นเอง ไม่เหมือนหมู่พวกเราท่านที่ปกครองกันด้วยศีลธรรมอันดีงาม ถ้าเราสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติไปตามศีลและธรรมตามประเพณีอันดีงามเขาท่านเหล่านั้นไม่ชอบ เพราะจิตใจเขาไม่เคยได้ยินได้ฟัง มันไปขัดกับนิสัยจิตใจของเขาของท่านเหล่านั้นอยู่เสมอ ๆ เมื่ออ่านดูเหตุผลในธรรมเหล่านี้แล้วให้พิจารณาดู มันถึงจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเราถึงจะมีปัญญาแก้ไขต่อ ๆ ไป เพราะศาสนาพราหมณ์ – ศาสนาพุทธเจ้าเราท่านยังมีอยู่ ถ้าศาสนาทั้งสองนี้สิ้นไปหมดแล้วก็จะมีแต่พวกที่ไม่มีศาสนาก็กลายเป็นยุคสมัยไป ท่านเรียกว่ากลียุค ๆ นี้ต่อ ๆ ไปก็จะกลายเป็นยุคมิคสัญญีไป ยุคนี้อยู่นานจนถึงแปดหมื่นปี ถึงจะสิ้นสุดลง พระพุทธเจ้าผู้มีนามว่าพระศรีอริยเมตไตรย์ถึงจะได้เสด็จลงมาตรัสอีกพระองค์หนึ่ง เป็นสมัยศาสนาต่อ ๆ ไปตามพุทธเจ้าบัญญัติไว้ดั่งนี้หมู่เราท่านรีบทำจิตใจก่อร่างสร้างบุญกุศลบารมีกันไว้เถิด หมู่เราท่านก็จะได้ข้ามเขตกลียุคหรือยุคมิคสัญญีนี้ไปได้ก็เพราะบุญกุศล บารมีในการกระทำของหมู่เราท่านนี้เอง อนึ่งพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบัญญัติธรรมข้อปฏิบัติจิตใจ ให้มนุษย์ที่เกิดมารุ่นหลังให้รู้ในสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ชั่วที่มีอยู่ในตัวตนบุคคลเราเขาให้รู้โลกและรู้ธรรม  เราจะรู้ว่าอะไรเป็นมูลพระพุทธเจ้าท่านถึงได้ตรัสธรรมไว้ให้ในมหาปฏิปฐาน 4  คือ อนาปานุสติ ให้บริกรรม คำว่าบริกรรมก็คือการไม่ให้พูดนั้นเอง ให้พิจารณาในลมหายใจเข้าออก เข้าสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น เข้ายาวก็ให้รู้ว่ายาว ออกสั้นก็ให้รู้ว่าออกสั้น ออกยาวก็ให้รู้ว่าออกยาว จนให้มีสติน้อมนึกได้จนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรในจิตใจของเราท่านทุกตัวคนไป คนเราไปนึกเอาแต่ว่าตนของตนกระทำดีแต่ไม่ได้ดี ไปนึกเอาแต่ความชั่วของบุคคลอื่นเลยเกิดวิตกวิจารณ์เกิดความเศร้าใจ เลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งทำลายตนของตน เลยไปถือว่าผู้ที่ทำดีไม่ได้ดี ผู้ทำชั่วกันได้ดี เพราะเราไปเห็นว่าเป็นความผิดของผู้อื่นเขา  แต่เราไม่เห็นความดีของผู้อื่นเขานั้นเอง เหมือนเราไปนึกเอาความดีของตนเองว่าเรากระทำความดีแต่ทำไมถึงไม่ได้ดี เพราะว่าเรานึกไม่ถึงในความชั่วของตนนั้นเอง ถึงได้เกิดวิตกวิจารณ์เป็นความไม่พอใจแก่ตนเอง กลับไปเพ่งเล็งผู้อื่นเขาว่าเขารังเกียจเบียดบังตนเช่นนี้แหละ เพราะเราไม่รู้ซึ้งถึงโลกและถึงธรรมนั้นเอง กลับไปเพ่งเล็งผู้อื่นเขาว่าเขารังเกียจเบียดบังตนเช่นนี้แหละ เพราะเราไม่รู้ซึ้งถึงโลกและถึงธรรมนั้นเอง พระพุทธเจ้าท่านถึงให้ดูลมหายใจเข้าออกของตนนั้น ว่ามันเที่ยง หรือว่าไม่เที่ยง เราให้รู้ภายในตนของตนเสียก่อน เราจะรีบร้อนกันไปทางไหน ลมหายใจเป็นครูสอนของเราทุกตัวตนคนไป เพราะลมหายใจเข้าออกของใครของมันไม่ใช่หรือ ตั้งแต่ลมหายใจเข้าออกก็ยังไม่เที่ยงอยู่แล้ว เราอย่าไปนึกคิดจะให้ผู้อื่นเขาเที่ยงตรงได้อย่างไร ในภพทั้งสามที่โลกมนุษย์คนเรานี้ที่หมุนเวียนอยู่นี้ สิ่งอันใดเกิดขึ้นมาแล้วสิ่งนั้นไม่เที่ยงนะท่านชาย – หญิง ให้เลิกจากวิตกวิจารณ์กันไปเสียที ให้พิจารณากันไปให้มันแจ่มแจ้ง อย่าไปเมามันจะมืดเลยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าจิตใจท่านเหล่าใดมืดแล้วย่อมเกิดวิตกวิจารณ์ เกิดความเศร้าโศกรำพึงรำพันไม่มีสิ้น ไม่มีจบเศร้าหมองอยู่นั้นเอง เลยไปตกอยู่ในบ่วงมารแก้ไม่ตกปลดไม่ออก คอยหาแต่วันตาย เพราะไม่มีปัญญารู้เท่าสังขารตนและผู้อื่นนั้นเอง  ให้หมู่ท่านรีบเร่งไปหาอาจารย์เมธีที่ท่านสั่งสอนของท่าน เมื่อท่านสั่งสอนให้กระทำจิตใจให้ดูลมหายใจเข้าออกสั้นยาวนั้นมีประโยชน์อย่างไรนั้น จงให้พิจารณาต่อ ๆ ไปจะมีมรรคผลอย่างไรในทางโลกและทางธรรม จะได้อธิบายโดยย่อ ๆ ขอให้ผู้ปฏิบัติจงพิจารณาให้เกิดปัญญาให้แจ้งต่อ ๆ ไป อย่าไปถือว่าไม่มีประโยชน์ คือจิตใจของเราท่านนั้นแหละเป็นใหญ่ ลมหายใจเข้าออกแต่ละท่านนั้นแหละเป็นมูลให้มนุษย์และสัตว์ ให้อยู่ได้ในโลกนี้ ก็เพราะลมหายใจเข้าออกนั้นเอง

 

               ถ้าจิตใจลมหายใจไม่มีอยู่ในร่างกายสังขารของมนุษย์และสัตว์แล้ว ร่างกายสังขารทั้งหลายก็จะหาประโยชน์มิได้เลยดั่งนี้ เราจะไปยึดถือเอาอะไรกันอยู่ทุกวันนี้ พระพุทธองค์ท่านสั่งสอนให้มีปัญญาให้รู้เท่าทันสังขารกายเวทนา อันนี้มิใช่ตัวมิใช่ตนมิใช่บุคคลเราเขาแต่ประการใด เรารู้เราสอนกันอยู่ทุก ๆ วันนี้ก็เพราะเรารู้ผิดเห็นผิดไปนั้นเอง เราไปหลงร่างกายสังขารว่านี้เป็นบิดา – มารดา สามี – ภรรยา กุลบุตร – หลาน – เหลน ของเรา ถ้าเมื่อไฟลมจิตใจลมหายใจเข้าออกไปจากร่างกายสังขารของท่านเหล่านั้นหมดไปแล้ว ร่างกายสังขารนั้น เป็นอย่างไร หมู่ท่านเคยเห็นกันบ้างไหม ถ้าเห็นได้พิจารณากันดูหรือเปล่า ว่าอะไรเป็นอะไรเราจะรู้ได้ชัดเห็นได้ดี เขาเรียกกันว่า  “ผี” รีบกันเอาไปเผาเอาไปฝัง ไม่จีรังเพราะว่าร่างกายสังขารนี้มิใช่ตัวตนนั้นเอง ขอให้ท่านทั้งหลายสั่งสอนอบรมให้มันถูกให้มันต้องในตัวตนบุคคลเราเขากันบ้าง ใหญ่เท่าช้างไม่รู้ความหมาย รู้ว่าแต่ตาย ไม่รู้ว่าอะไรมีเหลืออยู่หารู้กันได้ไม่ สภาวะจิตสภาวะใจสภาวะลมหายใจเข้า – ออก สภาวะบุญสภาวะบาปนั้นเมื่อตายแล้วไปที่ใดกันเล่า สภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นธรรมอันไม่ตายนะท่านชาย – หญิง สภาวธรรมทั้งสามนี้มาปรุงเป็นรูป ๆ เหล่านี้เข้าซึ้งถึงนิพพานเป็นที่สิ้นสุดลงไม่จุติไม่ปฏิสนธิอีกแล้ว สิ้นทุกข์เวทนาเกิด – แก่ – เจ็บ – ตาย ในเรื่องของสังขารนั้นไม่มีอีกแล้วมีแต่สุขอย่างเดียวมิได้ท่องเที่ยว วัฏฏะภพแห่งทุกข์ทั้งปวงของสัตว์อีกไป สภาวธรรมรูปนี้แหละให้ความเป็นอยู่ของร่างกายสังขารของมนุษย์และสัตว์ บุญ – บาปในการกระทำของแต่ละท่านมาปรุงขึ้นให้มนุษย์และสัตว์เป็นไปต่าง ๆ กัน เพราะเป็นธรรมอันไม่ตาย โลภ – โกรธ – หลง เป็นเชื้อของโลกและภพทั้งสามที่เวียนว่ายเกิดตายกันอยู่ทุก ๆ วันนี้  โลภ – โกรธ – หลง เป็นสภาวธรรมเจตสิกแปดสิบดวง น้อมนำเข้ามาสู่จิตให้เกิดกามตัณหาสภาวะตัณหาวิภาวะตัณหา ให้เกิดความนึกคิดให้จิตใจของมนุษย์และสัตว์หันเหไปตามตัณหานั้น ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดโดยความหลงนั่นเอง ศีล – สมาธิ – ปัญญาของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแสงสว่างยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ผู้ปฏิบัติจงมี สติน้อมนึกเอาแสงสว่างปัญญาเข้ามาสู่เจตสิกเก้าดวง เจตสิกนำความนึกคิดเข้าไปสู่จิต ให้เกิดความสำนึกได้ด้วยปัญญาแสงสว่างรู้แจ้งซึ่งโลกและธรรม สามารถน้อมนำจิตให้ออกจากตัณหาราคะ โลภ โกรธ หลง ได้และรู้ที่อยู่ของตัณหาได้ด้วย รู้บุญรู้บาปได้ด้วยรู้ทางนรก – สวรรค์ นิพพานได้ด้วย ฯ

 

              ต่อไปนี้ยังมีธรรมอีกเหล่าหนึ่งที่มนุษย์ชาย – หญิงสมควรสนใจกันให้มาก ๆ เถิดเพราะมนุษย์คนเราชอบสวยชอบงามชอบดีชอบชื่นชอบเสียง ชอบประดับตกแต่งร่างกาย โดยดัดจริตที่ผิดจากศีลธรรมกันอยู่เป็นส่วนมาก โดยไม่ใช่ศรัทธาบารมีเลย กายนี้เป็นสิ่งโสโครกเศร้าหมองตกต่ำไปเพราะตนกระทำโดยผิด ๆ โดยไม่รู้ตัว ครั้นต่อไปชาติหน้าร่างกายสังขารก็จะกลายเป็นคนรูปร่างดำมิดหมีขี้เหล่ไม่เป็นที่น่าดู หน้าหงิกผมหยอง ก้นงอนเหมือนหนังตลุงไอ้แก้วได้ปานไม่มีผิด เพราะการกระทำของตนที่หลอกลวงตนเองและผู้อื่นโดยดัดจริต คิดในใจตนว่าให้ตนสวยตนงามด้วยกามตัณหา แต่งหน้า แต่งตา แต่งกายเสริมตะโพก แต่งเล็บ ทาปาก แต่งฟัน สิ่งเหล่านี้เป็นอกุศล เพราะเป็นกายล่อลวงจิตใจตนและผู้อื่นเพื่อให้ท่านเหล่านั้นรักตน เป็นกิเลสสะกาม ตัณหาสามยั่วยวนผู้อื่นให้หลงรักตน ผลเหล่านี้จะนำสนองตนให้ได้รับผลที่ไม่สวยไม่งามต่อ ๆ ไปหลายชาตินัก เพราะผลแห่งการกระทำของตนนั้นเอง ตามอานิสงส์นั้น ๆ รู้แล้วอ่านแล้วอย่าคิดเข้าใจผิดให้พิจารณาดูให้มันรู้ในผลแห่งการกระทำของตนในแต่ละท่าน เพื่อประโยชน์อะไรกันเล่า  อย่าไปนึกถึงเข้าข้างตนเองให้ดูผลบารมีที่จะสนองติดตามมานะภายหลัง เราอย่าไปเห็นแก่เงินและทองของนอกกาย พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านถึงห้ามมิให้ตบแต่งซึ่งร่างกายด้วยระเบียบ ดอกไม้และของหอมเครื่องทาเครื่องย้อมผัดผิวต่าง ๆ สิ่งเป็นข้าศึกแก่กุศล ท่านกล่าวไว้โดยย่อ ๆ พอเป็นที่น่าคิดน่าพิจารณาเท่านั้น เราท่านทั้งหลายสมควรพิจารณากันบ้าง สมควรสร้างบารมีอันสวยงามกันบ้างอย่าถือกันว่าไม่ทันใจตนเอง เดี๋ยวชาติต่อ ๆ ไปจะเป็นคนไร้ทรัพย์อับปัญญา เพราะการกระทำของตนนั้นเอง ถ้าผลกรรมนำสนองมาถึงตนแล้วจะไปต้องติท่านผู้อื่นท่านได้อย่างไรกันเล่า เพราะท่านกระทำตัวของท่านเอง  

 

              อาตมาเห็นมาในบารมีอานิสงส์ต่าง ๆ ตามพุทธบัญญัติโพธิสัตว์โพธิญาณ รูปสวยรูปงามเพราะบุญบารมีในการกระทำนั้นเอง คือจิตนี้เป็นใหญ่กว่าสิ่งใดใด ทั้งหมดจิตใจจะปรุงสิ่งใดใด ให้เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นจิตใจจะปรุงรูปร่างให้สวยให้งามก็ได้ จะปรุงให้รูปร่างขี้เหล่อย่างใดก็ได้ มนุษย์ชายหญิงที่อยากจะสวยอยากจะงามกันก็ขอให้หมู่ท่านทั้งหลาย ตบแต่งจิตใจของท่านนั้นให้สวยให้งาม แต่งให้จิตใจผ่องใสสะอาดปราศจากมลทินคือ ไม่ทำให้จิตใจเร่าร้อนไม่ให้เศร้าหมอง มิให้มีโทสะ – พยาบาท – อาฆาต ความเศร้าใจสิ่งเหล่านี้ไม่ให้มีใจจิตใจของเราไม่ให้ทำการประดับจิตใจ และตบแต่งจิตใจเราให้สวยให้งาม ด้วยความไม่รักไม่เกลียดแก่ตนและผู้อื่นเช่นนี้แหละท่านเรียกตบแต่งจิตใจให้สวยงาม เป็นบุญเป็นกุศลอันสูงสุดสวยเลิศยิ่งกว่าสัตว์มนุษย์ทั้งปวงด้วยบารมีในการกระทำ ของตนที่ได้ตบแต่งจิตใจให้สวยให้งามนั้นเอง จิตใจสวยงามสะอาดแล้วจิตใจของเราท่านก็จะมาปรุงร่างกายสังขารภายนอก ให้เกิดความสวยงามขึ้นให้เป็นประจักษ์แก่ตาชาวโลกได้ มนุษย์คนใดมองเห็นก็เกิดความสลดใจล้มชักทั้งเป็นก็อาจเป็นได้ เพราะท่านเหล่านั้นไม่มีบุญบารมีเหมือนผู้ที่ตบแต่งจิตใจนั้นเอง การตบแต่งจิตใจนี้ย่อมกระทำได้ทุกตัวคน เพราะว่ามิได้เสียทรัพย์เงินทองของนอกกายแต่ประการใด ๆ แต่เราเสียทรัพย์สินเงินทองไปจ้างคนอื่นเขาให้มาตบแต่งให้เราทำไมทำกันได้เล่า เมื่อเราตบแต่งจิตใจเราโดยไม่ได้เสียทรัพย์สินเงินทองเลยทำไมจะทำกันไม่ได้หรือ ถ้าเราตบแต่งจิตใจเราให้สงบผ่องใสได้แล้วในปัจจุบันนี้ จิตใจเรามาตบแต่งใจเราในปัจจุบันนี้ให้เห็นทันตาในโลกมนุษย์คนเราในปัจจุบันแหละ ขอให้หมู่ท่านชายหญิงจงตบแต่งจิตใจตนของตนเองเป็นของเลิศที่สุด (ดีกว่าเราไม่แต่ง) ชาติต่อ ๆ ไปจิตใจเรามาปฏิสนธิอยู่ในกายสังขารของท่าน จิตใจของท่านก็จะมาปรับปรุงแต่งกายของท่านให้สวยให้งามขึ้นเอง เพราะบารมีของท่านชายหญิงที่ทำไว้แล้วนั่นเอง

 

              สมาธิกรรมฐานวิปัสสนาอันใดใดก็ดี ที่ท่านสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัตินั้น ๆ ก็เพราะหวังให้ผู้ปฏิบัติกระทำตามก็เพราะหวังให้เราตบแต่งจิตใจเรานั่นเอง ถ้าเราไม่ตบแต่งจิตใจของเราแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติกันไปทำไมเล่า ขอให้ผู้ปฏิบัติที่อยู่ในศีล – สมาธิ – ปัญญาให้รู้ความหมายในทางปฏิบัติกันไว้บ้าง เมื่อจิตใจเราท่านเข้าสู่สวรรค์ – พระนิพพานได้ก็เพราะเราตบแต่งจิตใจเรานั่นเอง เมื่อเราจะอยู่ในโลกนี้เวียนว่ายเกิดตาย ก็ต้องตบแต่งใจและจิตของเราให้สวยให้งาม ครั้งเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์และสัตว์ก็จะมีกายรูปร่างที่สวยงามมีราคาอันมหาศาล ไม่ต้องทำกิจการงานก็จะได้รับความสุขกว่าคนธรรมดาเป็นแสน ๆ เท่านะท่านชาย – หญิง อาตมาภาพมองเห็นบารมีอันนี้พอจะกระทำกันได้อยู่ไม่เหลือวิสัยดอกท่านชาย – หญิงอาตมาภาพถึงได้บอกแก่หมู่ญาติในโลกนี้ทั้งปวง อาตมาภาพก็เป็นผู้ที่รักสวยรักงามเหมือนกัน ขอจงรีบกระทำตบแต่งจิตใจกันเถิด ผลรับเป็นของเราเองผู้ประพฤติปฏิบัติตามนี้ขอให้สมความปรารถนาของท่านทุก ๆ ประการเทอญ

พระครูสังฆรักษ์ชม  อนฺคโณ

 

               (1)   อาจารย์สอนศิษย์ เกิดที่ไหน ความดีมีอยู่ที่นั้น ตายที่ไหน ความดับมีอยู่ที่นั้นผู้มีปัญญาให้พิจารณาเอาตรงนั้น

 

               (2)   เมื่อผู้ปฏิบัติจบแล้ว สังขารชีวิตแตกดับและดับเบญจขันธ์ เหลือแต่อากาศ ๆ นั้นแหละเป็นรูปลมหายใจเข้าออกก็อยู่ในรูปนั้นแหละ ถึงได้กล่าวไว้ว่าจิต – เจตสิก – รูป – นิพพาน ตามพระพุทธเจ้าบัญญัติ

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  23/10/2562 10:16:07

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom