ศีลสิบกับพระวินัยที่แยกกันไม่ได้

 

               อาตมาเป็นผู้ปรารถนาจิตอย่างแรงกล้า  ที่จะปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จะทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงศีลอย่างแท้จริง  เพราะพระภิกษุ-สามเณร-ชี-พราหมณ์-อุบาสก-อุบาสิกา จะอุบัติขึ้นได้ก็เพราะ  “ศีล“  ถ้าศีลขาดแล้วจะมีโอกาสต่อได้ที่ไหนบ้าง เพราะศีลเป็นข้อห้ามขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ทรงบัญญัติไว้ พร้อมด้วยพระวินัยอีก 227 ข้อ ส่วนพระวินัยทั้งหมดนั้น  บางข้อก็ยังปลงอาบัติหรือแสดงอาบัติได้อยู่ ความหมายของการปลงอาบัติมีดังนี้คือ

 

               ผู้รับอาบัติกล่าวว่า  ต่อไปห้ามมิให้นึกคิดและให้พิจารณาละทางกาย  ทางวาจา ทางใจ ต่อไปอย่ากระทำผิดอีก

 

               ผู้แสดงอาบัติรับว่า  จะไม่กระทำอีกต่อไป  จะขอระมัดระวังทางกาย ทางวาจา  ทางใจ  ให้บริสุทธิ์

 

               ผู้รับอาบัติโมทนาว่า  ดีแล้ว  (สาธุ)

 

               ผู้ประมาทอยู่นั้นยังล่วงอาบัติอยู่เสมอ ๆ  ด้วยการเข้าใจผิด  หรือ  รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยิ่งกว่านั้นยังไม่ทราบอีกด้วยว่าตนนั้นต้องอาบัติอย่างไร  ต้องทำการปลงอาบัติอยู่เป็นนิจโดยไม่มีที่สิ้นสุด ตามความหมายนี้แสดงว่าเป็นพระภิกษุ-สามเณรที่ว่ายาก  สอนยาก แม้ว่าเราได้แสดงอาบัติก็จริงอยู่ แต่ถ้าศีลขาดแล้วนั้นไม่สามารถจะต่อได้อีก เพราะศีลนั้นพระอุปัชฌาย์ท่านได้ให้เราไว้เพียงครั้งเดียวในตอนที่เราอุปสมบทเท่านั้น  ตามที่กล่าวมานี้ ศีลกับพระวินัยจึงเป็นของคู่กันจะแยกกันไม่ได้เลย  ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างไว้พอสังเขป

 

               1. ศีลข้อที่ 6 คือ วิกาลโภชนา เวรมณีฯ  ถ้าภิกษุบริโภคอาหารในเวลาวิกาล  ทางพระวินัยท่านปรับเป็นอาบัติ  “ปาจิตตีย์“  การแสดงอาบัติยังคงกระทำได้อยู่  แต่ศีลข้อนี้ได้ขาดแล้วและจะต่ออีกก็ไม่ได้

 

               2. ศีลข้อที่ 7 คือ นัจจะคีตะวาทิตะ วิสูกะทัสสะนา เวรมณีฯ  ถ้าภิกษุดูการเล่น  ฟ้อนรำฟังขับร้องต่างๆ เล่นหมากรุก  ฟังเครื่องเล่นเทปโทรทัศน์  ฯลฯ  ในพระวินัยท่านปรับเป็นอาบัติ  “ทุกกฎ“  หรือ  “ปาจิตตีย์“ การแสดงอาบัติยังคงกระทำได้อยู่  แต่ศีลข้อนี้ขาดแล้วก็คงต่อไม่ได้อีกเช่นกัน

               3. ศีลข้อที่ 10 คือ ชาตะรูปะ ระชะตะปะฏิคคะหะณา เวรมณีฯ  ถ้าภิกษุจับต้องเงินทองซื้อขาย แลกเปลี่ยนที่เป็นกระดาษหรือวัตถุก็ตามที่เขาใช้แทนเงินและทอง  เช่น  เช็ดธนาคาร เงินตราต่างๆ ล๊อตเตอรี่ที่ยังไม่ถึงกำหนดออกรางวัล  เพราะมันใช้แทนเงินและทองได้อยู่  พระวินัยท่านปรับเป็นอาบัติ “นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์“  แต่ศีลข้อนี้ขาดแล้วและคงต่ออีกไม่ได้อีกเช่นกัน

 

               แต่บางท่านอาจเข้าใจว่า  “สมัยนี้คงอนุโลมได้“  ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการเดินทางหรือเหตุผลอื่น ๆ  มากมาย แต่เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านมิได้อนุโลมไว้เลย  จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดและพิจารณาไม่น้อย  ท่านผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ทั้งหลาย ถ้าปรารถนาจะเดินตามทางที่พระพุทธเจ้าของเราได้วางเอาไว้  โปรดอย่าล่วงละเมิดอยู่เลย  เราจะไม่พบทางพ้นทุกข์ กิเลสตัณหามันจะหัวเราะเยาะเรา  พูดแล้วพูดเล่าก็เข้าตนเองว่าเป็นสมมุติสงฆ์อยู่เสมอไป  แล้วเมื่อไรจะได้พบพระ จะได้ละจากแว่นแคว้นแดนสงสาร

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  23/10/2562 10:29:03

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom